Saturday, January 28, 2012

การสังคายนาพระไตรปิฎก


การสังคายนาพระไตรปิฎก 


           สังคายนาพระธรรมวินัย หมายถึง การรวบรวม ตรวจสอบ ชำระพระธรรมและพระวินัยที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนหรือบัญญัติไว้

            ตามประวัติศาสนา การเกิดพระไตรปิฎกเริ่มต้นตั้งแต่สมัยที่พระพุทธเจ้ายังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ โดยพระพุทธองค์ทรงแนะนำให้สาวกรวบรวมพระพุทธภาษิตของพระองค์จัดเป็นหมวดหมู่ด้วยการซักซ้อมข้อที่ท่องจำกันมาให้เป็นที่เข้าใจ จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นการเริ่มต้นการรวบรวมเป็นตำราการท่องจำ ทั้งนี้เพราะเจ้าลัทธินิครนถ์ ชื่อ นิครนถนาฏบุตร สิ้นชีวิตลง พวกสาวกเกิดแตกกัน พระจุนทะเถระน้องชายพระสารีบุตรกลัวจะเกิดเหตุทำนองนี้ขึ้นกับพระพุทธศาสนา จึงไปเล่าให้พระสารีบุตรและพระอานนท์ฟัง ทั้งสองจึงกราบทูลพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงแนะนำให้รวบรวมพระธรรมวินัยเป็นหมวดหมู่และเป็นข้อๆ เมื่อมีการซักซ้อมท่องข้อธรรมเหล่านี้ พระพุทธองค์ก็ตรัสรับรองว่าถูกต้อง จึงนับได้ว่าเป็นการสังคายนาหรือการรวบรวมข้อธรรมของพระพุทธเจ้าครั้งแรก ซึ่งปรากฏอยู่ในรูปของพระธรรมกับพระวินัย


การสังคายนาพระธรรมวินัย ครั้งที่ 1  พระมหากัสสปเถระได้คิดทำการสังคายนาเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว 3 เดือน โดยมีพระเจ้าอชาตศัตรูเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภก ณ ถ้ำสัตตบรรณ เชิงเขาเวภาระ กรุงราชคฤห์ อาณาจักรมคธ มีพระอรหันต์มาร่วมประชุม 500 รูป

การสังคายนาพระธรรมวินัย ครั้งที่ 2  จัดทำขึ้นหลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว 100 ปี เนื่องจากมีพวกภิกษุชาววัชชีกลุ่มหนึ่งปฏิบัติผิดพระวินัย เช่น ฉันอาหารเลยเวลาเที่ยงวัน เป็นต้น พระยสถากรัฑบุตรซึ่งเป็นพระเถระผู้ใหญ่เห็นว่าหากปล่อยให้มีการประพฤติผิดพระวินัยเช่นนี้อาจเป็นเหตุให้พระพุทธศาสนาเสื่อม จึงเสนอให้ทำสังคายนาโดยพระสัพพากามีเถระเป็นองค์ประธาน พระเรวัตเถระและพระอรหันต์มาประชุมร่วมกัน 700 รูป โดยพระเจ้ากาลาโศกราชของอาณาจักรวัชชีเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภก ในการประชุมสงฆ์ครั้งนี้ทำให้คณะสงฆ์แตกออกเป็น 2 นิกาย คือ นิกายมหาสังฆิกะของภิกษุชาววัชชี กับนิกายเถรวาทของพระสัพพกามีเถระ

การสังคายนาพระธรรมวินัย ครั้งที่ 3 จัดทำขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 3 เนื่องจากได้มีนักบวชนอกศาสนาปลอมตัวมาบวชเพื่อหวังในลาภสักการะ สร้างความเดือดร้อนระส่ำระสายแก่พระภิกษุเป็นจำนวนมาก พระเจ้าอโศกมหาราชมีพระราชประสงค์จะชำระสะสางคณะสงฆ์ให้บริสุทธิ์ จึงอาราธนาพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระเป็นประธานทำสังคายนา ณ กรุงปาตลีบุตร แคว้นมคธ  ภายหลังการสังคายนา พระเจ้าอโศกมหาราชได้ส่งสมณทูตจำนวน 9 คณะแยกย้ายไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปยังดินแดนต่างๆ เช่น พระมหารักขิตเถระไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่กรีก พระมัชฌิมเถระไปที่เนปาล พระโสณเถระและพระอุตตรเถระไปที่สุวรรณภูมิ พระมหินทรเถระไปที่ลังกา เป็นต้น ส่งผลให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาก

การสังคายนาพระธรรมวินัย ครั้งที่ 4 – 5 – 6  ในประเทศต่างๆ ที่นับถือพระพุทธศาสนาจะมีการนับจำนวนครั้งที่สังคายนาแตกต่างกันไป สำหรับประเทศไทย ถือว่าครั้งที่  4 – 5 – 6  และ 7  ทำการสังคายนาในลังกาและได้มีการแปลและเรียบเรียงอรรถกถา คือ คำอธิบายพระไตรปิฎกเป็นภาษบาลี ครั้งที่ 8-9 ทำในประเทศไทย โดยครั้งที่ 8 ได้มีการชำระอักษรพระไตรปิฎกและจารึกลงในใบลานที่เมืองเชียงใหม่ ในสมัยพระเจ้าติโลกราช ส่วนครั้งที่ 9 คือในสมัยรัชกาลที่ 1 ได้มีการจารึกตัวอักษรลงในใบลานอีกครั้งหนึ่ง ต่อมาได้มีการจัดพิมพ์เป็นเล่มในสมัยรัชกาลที่ 5  และในสมัยรัชกาลที่ 7 ได้โปรดเกล้าฯให้ตีพิมพ์ใหม่เป็นพระไตรปิฎกฉบับที่สมบูรณ์เพื่ออุทิศถวายเป็นพระราชกุศลแด่รัชกาลที่ 6 เรียกว่า พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ พิมพ์ครบชุด 45 เล่ม และส่งไปเผยแผ่ยังต่างประเทศ ถือได้ว่าเป็นหลักในการจัดแบ่งเล่มพระไตรปิฎกในประเทศไทยในปัจจุบัน

สังคมศึกษา ม.1
ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก : maceducation.com

No comments:

Post a Comment