Saturday, January 28, 2012

การเผยแผ่พระพุทธศาสนาเข้าสู่ประเทศไทย



การเผยแผ่พระัพุทธศาสนาเข้าสู่ประเทศไทย ( สัุงคม ม.1 )


                   พระพุทธศาสนาที่เผยแผ่เข้าสู่ประเทศไทยในแต่ละอาณาจักรมีการนับถือที่แตกต่างกันออกไป เช่น อาณาจักรตามพรลิงค์และอาณาจักรศรีวิชัย นับถือนิกายมหายาน ส่วนอาณาจักรทวาราวดี อาณาจักรพุกาม และอาณาจักรหริภุญไชย นับถือนิกายเถรวาท  สำหรับการนับถือพระพุทธศาสนาของคนไทย ไม่สามารถระบุให้ชัดเจน แต่ยึดถือเอาอาณาจักรสุโขทัยเป็นจุดเริ่มต้นในการศึกษา ดังนี้


1) อาณาจักรสุโขทัย 
ในราว พ.ศ. 1800 พระสงฆ์ไทยที่ไปศึกษาในลังกาได้กลับมาประเทศไทยพร้อมด้วยพระสงฆ์ชาวลังกา ได้มาตั้งสำนักเผยแผ่ศาสนาขึ้นที่เมืองนครศรีธรรมราช พอถึง พ.ศ. 1820 พ่อขุนรามคำแหงมหาราชขึ้นครองราช และทรงทราบกิตติศัพท์ว่า พระสงฆ์ที่เมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทอย่างลังกาวงศ์ มีวัตรปฏิบัติน่าเคารพเลื่อมใส จึงโปรดเกล้าฯ ให้นิมนต์พระมหาเถรสังฆราชจากนครศรีธรรมราช มายังวัดอรัญญิก ในกรุงสุโขทัย ต่อมา พ.ศ. 1897 พระเจ้าลิไทขึ้นครองราชย์ ได้นิมนต์พระมหาสามีสังฆราช เมืองลังกา ชื่อสมนะ เข้ามาสู่สุโขทัย พระองค์ทรงเลื่อมใสได้เสด็จออกผนวชชั่วคราว ณ วัดอรัญญิก และได้ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือเรื่อง เตภูมิกถา หรือ ไตรภูมิพระร่วง พระพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ได้เป็นที่เคารพนับถือของประชาชนไทยในสมัยสุโขทัยเป็นอย่างยิ่ง และแผ่ขยายไปทั่วอาณาจักรสุโขทัย

2) สมัยอาณาจักรล้านนา 
เมื่อ พ.ศ. 1913 พระเจ้ากือนาแห่งอาณาจักรล้านนา ได้ส่งพระราชทูตมาอาราธนาพระสังฆราชสุมนเถร จากพญาลิไทยแห่งกรุงสุโขทัยขึ้นไปยังล้านนา ซึ่งเป็นการเริ่มต้นพระพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ ในล้านนา ต่อมาในรัชกาลพระเจ้าติโลกราช ได้อุปถัมภ์ให้มีการทำสังคายนาครั้งที่ 8 ที่วัดโพธารามหรือวัดเจ็ดยอด และในรัชกาลพระเมืองแก้ว (พ.ศ.2038-2068) เป็นยุครุ่งเรืองของวรรณคดีพระพุทธศาสนา มีพระสงฆ์เป็นนักปราชญ์คัมภีร์ภาษาบาลีจำนวนมาก เช่น พระสิริมังคลาจารย์ แต่งหนังสือเรื่อง มังคลัตถทีปนี เวสสันตรทีปนี จักรวาฬทีปนี และสังขยาปกาสฎีกา พระรัตนปัญญาแต่งหนังสือเรื่อง วชิรสารัตถสังคห และชินกาลมาลีปกรณ์ เป็นต้น

3) สมัยอาณาจักรอยุธยา 
ในสมัยอยุธยาได้รับอิทธิพลการนับถือพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทอย่างลังกาวงศ์ จากอาณาจักรสุโขทัย ในสมัยนี้ได้มีการแต่งหนังสือเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เช่น มหาชาติคำหลวง กาพย์มหาชาติ นันโทปนันทสูตร พระมาลัยคำหลวง ปุณโณวาทคำฉันท์ เป็นต้น ใน พ.ศ. 2296 พระพุทธศาสนาในประเทศลังกาขาดพระภิกษุที่จะสืบศาสนา กษัตริย์ลังกาจึงส่งคณะทูตมาขอพระสงฆ์ไทยไปทำการอุปสมบทให้แก่ชาวลังกา พระเจ้าบรมโกศ ได้ส่งพระอุบาลีและพระอริยมุนี พร้อมด้วยคณะสงฆ์อีก 15 รูป เดินทางไปยังลังกาและได้ช่วยกันวางรากฐานและประดิษฐานพระพุทธศาสนาในลังกาจนมั่นคงเป็นปึกแผ่น ทำให้เกิดนิกายที่เรียกว่า “อุบาลีวงศ์หรือสยามวงศ์” ขึ้นที่ลังกา

4) สมัยอาณาจักรธนบุรี 
หลังจากที่พระเจ้าตากสินมหาราช ได้ทรงสถาปนากรุงธนบุรีแล้ว ก็ได้ฟื้นฟูพระพุทธศาสนาซึ่งเสื่อมโทรมไปหลังจากได้รับผลกระทบจากการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 แก่พม่า จึงได้อาราธนาพระสงฆ์ที่กระจัดกระจายจากภัยสงครามมาประจำอยู่ในพระอารามต่าง ๆ และได้โปรดเกล้าฯ ให้สืบหาพระสงฆ์ที่ทรงคุณธรรมจากทั่วประเทศให้ไปประชุมที่วัดบางหว้าใหญ่ (วัดระฆังโฆษิตารามในปัจจุบัน) เพื่อทำการคัดเลือกพระสงฆ์ที่ทรงคุณสมบัติขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งที่ประชุมได้ลงมติเลือกพระอาจารย์ศรี วัดประดู่ กรุงศรีอยุธยา เป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์แรกของกรุงธนบุรี เพื่อให้ทรงเป็นผู้รับผิดชอบในการฟื้นฟูบูรณะพระพุทธศาสนา ให้กลับคืนสู่ความรุ่งเรืองดังเดิม

5) สมัยอาณาจักรรัตนโกสินทร์ 
กษัตริย์ราชวงศ์จักรีทุกพระองค์ทรงเป็นผู้อุปถัมภ์พระพุทธศาสนา เช่น 
รัชกาลที่ 1 ทรงสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดสุทัศน์เทพวราราม 
รัชกาลที่ 2 ทรงเปลี่ยนแปลงการศึกษาภาษาบาลีของพระภิกษุสงฆ์ให้มีคุณภาพมากขึ้น 
รัชกาลที่ 4 ทรงก่อตั้งคณะสงฆ์ธรรมยุตนิกาย สมัยที่พระองค์ทรงผนวชอยู่ 
รัชกาลที่ 5 ได้ทรงก่อตั้งมหาวิทยาลัยสงฆ์ 2 แห่งคือ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย 
                  ที่วัดมหาธาตุยุวราชรังคสฤกติ และมหามกุฏราชวิทยาลัย ที่วัดบวรนิเวศน์วิหาร
รัชกาลที่ 6 ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เช่น เทศนาเสือป่า 
                  พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร และทรงยกเลิกการใช้รัตนโกสินทร์ศก (ร.ศ.) เปลี่ยนมา
                 ใช้ พุทธศักราช (พ.ศ.) แทน 
รัชกาลที่ 7 โปรดเกล้าให้จัดพิมพ์ “พระไตรปิฎกสยามรัฐ” 
รัชกาลที่ 8 มีการออกพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับใหม่ (ฉบับ พ.ศ. 2484) และ
รัชกาลที่ 9 ได้ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาไว้มากมาย เช่น จัดตั้งโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ 
                   ประกาศใช้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ส่งคณะสงฆ์ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา
                   ทั่วโลก เป็นต้น

ขอบคุณข้อมูลจาก : MCU.AC.TH




No comments:

Post a Comment