Tuesday, January 31, 2012

หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา

พุทธคุณ 9


พุทธคุณ 9 หมายถึง ความดีงามของพระพุทธเจ้าที่มีต่อมวลมนุษย์ 9 ประการดังนี้



            1. อะระหัง ทรงเป็นพระอรหันต์ หมายถึง ทรงเป็นผู้บริสุทธิ์ ปราศจากกิเลสที่เป็นเหตุให้เศร้าหมอง ทรงละเว้นการทำความชั่วทั้งหมด จึงทรงหมดสิ้นความทุกข์ ความเดือดร้อนทั้งปวง


            2.  สัมมาสัมพุทโธ ทรงเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หมายถึง ผู้ตรัสรู้ ทรงรู้แจ้งทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ความดับทุกข์ และมีวิธีให้ถึงความดับทุกข์ ซึ่งเรียกว่า อริยสัจ 4 ด้วยพระองค์เอง โดยไม่มีใครเป็นครูอาจารย์สั่งสอน แม้พระองค์ทรงมีความรู้อันเป็นพื้นฐานเบื้องต้นจากครูอาจารย์หลายสำนัก แต่ความรู้ที่ทรงรับนั้นไม่ใช่ความรู้เพื่อพ้นจากทุกข์ พระองค์ทรงบรรลุความรู้ด้วยการปฏิบัติด้วยพระองค์เอง


            3. วิชชาจะระณะสัมปันโน ผู้ทรงเพียบพร้อมด้วยความรู้แจ้งและความประพฤติปฏิบัติดี หมายถึง ความรู้ก็สมบูรณ์ดีเยี่ยมและความประพฤติดีงาม ทรงสั่งสอนผู้อื่นในสิ่งที่ทรงรู้และปฏิบัติ ทรงสั่งสอนชาวโลกอย่างใดก็ทรงปฏิบัติอย่างนั้น ทั้งความรู้และความประพฤติสมดุลกัน พระพุทธเจ้าทรงมีความรู้และความประพฤติดีจนทำพระองค์ทรงพ้นจากกิเลสและความทุกข์ได้ แล้วทรงสั่งสอนให้ผู้อื่นประพฤติปฏิบัติตามพระองค์จนได้บรรลุถึงความสุขในที่สุด


            4. สุคะโต เสด็จไปดีแล้ว หมายถึง วิถีทางที่เสด็จไปดีงาม พระองค์เสด็จไปสู่อริยมรรคที่ดีงาม คือ ทางประเสริฐสู่พระนิพพานนั่นเอง พระองค์เสด็จไปด้วยดีโดยชอบ ทรงดำเนินรุดหน้าไม่หวนกลับมาสู่กิเลสที่ทรงละได้แล้ว ทรงดำเนินไปสู่ผลสำร็จไม่ถอยหลัง ไม่ถอยกลับตกจากฐานะที่บรรลุถึง ทรงดำเนินไปในทางอันถูกต้อง ได้แก่ มัชฌิมาปฏิปทา (ทางสายกลาง) ไม่หลงไปในทางที่ผิด นี้เป็นความหมายของ สุคะโต หรือพระตถาคต ผู้เสด็จไปดีแล้ว และยังหมายถึง เสด็จไปดีเพื่อผู้อื่น คือ เสด็จไปที่ใดก็ทรงทำประโยชน์ให้แก่มหาชนในที่นั้น เสด็จไปโดยสวัสดีและนำให้เกิดสวัสดี เช่น เสด็จไปกลับใจโจรองคุลิมาลให้เป็นคนดี เป็นต้น


            5. โลกะวิทู ทรงรู้แจ้งโลก หมายถึง ทรงรู้แจ้งความจริงของโลก โลกในที่นี้ ได้แก่ สังขารทั้งหลาย พระองค์ทรงทราบอัธยาศัยของสัตว์ที่เป็นไปต่างๆ ได้ทรงแนะนำสั่งสอนได้ตรงตามที่เขาต้องการ เป็นเหตุให้เขาปฏิบัติตามแล้วได้รับผลสำเร็จ


            6. อะนุตตะโร ปุริสะทัมมะสาระถิ ทรงเป็นผู้สามารถฝึกบุรุษที่สมควรฝึกได้อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า หมายถึง ทรงรู้จักใช้อุบายให้เหมาะสมแก่บุคคล ทรงสอนเขาได้โดยไม่ต้องใช้อาชญาและทำให้เขาบรรลุที่พึงได้เต็มตามกำลังความสามารถของเขา



            7. สัตถา เทวะมนุสสานัง ทรงเป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ทรงเป็นครูของบุคคลทั้งชั้นสูงและชั้นต่ำ ทรงประกอบด้วยคุณสมบัติของครู และทรงทำหน้าที่ครูได้ดียอดเยี่ยม ทรงแนะนำพร่ำสอนชาวโลกด้วยพระกรุณาคุณ หวังให้ผู้อื่นได้ความรู้อย่างแท้จริง ทรงสอนมุ่งความจริงและประโยชน์เป็นหลัก ทั้งประโยชน์ในปัจจุบันคือชาตินี้ ประโยชน์ในชาติหน้าและประโยชน์สูงสุดคือพระนิพพาน


            8. พุทโธ ทรงเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น หมายถึง ไม่ทรงหลง ไม่ทรงงมงาย และทรงปลุกผู้อื่นให้ตื่นจากความหลงงมงาย และทรงเป็นผู้เบิกบาน หมายถึง มีพระทัยผ่องใส บำเพ็ญพุทธกิจได้ครบถ้วนบริบูรณ์


            9. ภะคะวา ทรงเป็นผู้มีโชค หมายถึง ทรงหวังพระโพธิญาณก็ได้สมหวัง ทรงประกาศพระศาสนาก็ชักจูงผู้คนให้ได้บรรลุธรรมสมปรารถนา แม้มีผู้คิดร้ายก็ไม่อาจทำร้ายพระองค์ได้  และทรงเป็นผู้จำแนกแจกธรรม หมายถึง ทรงอธิบายธรรมโดยนัยต่างๆ เหมาะสมแก่อุปนิสัยของผู้ฟัง จนได้รับผลสำเร็จตามสมควรแก่การประพฤติปฏิบัติของเขา


สังคมศึกษา ม.1
ข้อมูลจาก  maceducation

No comments:

Post a Comment