Tuesday, January 31, 2012

ขันธ์ 5

ขันธ์ 5



กองแห่งรูปธรรมและนามธรรมห้าหมวดที่ประชุมกันเข้าเป็นชีวิต


1.รูปขันธ์ กองรูป , ส่วนที่เป็นรูป , ร่างกาย , พฤติกรรม และคุณสมบัติต่างๆ ของส่วนที่เป็นร่างกาย , ส่วนประกอบฝ่ายรูปธรรมทั้งหมด , สิ่งที่เป็นร่างพร้อมทั้งคุณและอาการ


2.เวทนาขันธ์ กองเวทนา , ส่วนที่เป็นการเสวยรสอารมณ์ , ความรู้สึก สุข ทุกข์ หรือเฉยๆ


3.สัญญาขันธ์ กองสัญญา , ส่วนที่เป็นความกำหนดหมายให้จำอารมณ์นั้นๆได้ , ความกำหนดได้หมายรู้ในอารมณ์ 6 เช่นว่า ขาว เขียว ดำ แดง เป็นต้น


4.สังขารขันธ์ กองสังขาร , ส่วนที่เป็นความปรุงแต่ง , สภาพที่ปรุงแต่งจิตให้ดีหรือชั่วหรือเป็นกลางๆ , คุณสมบัติต่างๆ ของจิต มีเจตนาเป็นตัวนำ ที่ปรุงแต่งคุณภาพของจิต ให้เป็นกุศล อกุศล อัพยากฤต


5.วิญญาณขันธ์ กองวิญญาณ , ส่วนที่เป็นความรู้แจ้งอารมณ์ , ความรู้อารมณ์ทางอายตนะทั้ง 6 มีการเห็น การได้ยิน เป็นต้น ได้แก่ วิญญาณ 6


สังคมศึกษา ม.1

ทุกข์ (ธรรมที่ควรรู้)

ทุกข์ (ธรรมที่ควรรู้)


ทุกข์เป็นธรรมชาติที่ปรากฎในทางร่างกายและจิตใจของคนทุกคน ซึ่งสิ่งทีุ่ทุกคนต้องมี ต้องเป็น เป็นสิ่งที่ผู้คนไม่ปรารถนา ในสังคมศึกษา ม.1 นี้ นักเรียนจะได้ศึกษา เรื่อง


ขันธ์ 5


ธาตุ 4


สังคมศึกษา ม.1

หลักธรรมเรื่องอริยสัจ 4

อริยสัจ 4



 มีความจริงอยู่ 4 ประการคือ การมีอยู่ของทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ ความดับทุกข์ และ หนทางไปสู่ความดับทุกข์ ความจริงเหล่านี้เรียกว่า อริยสัจ 4


1. ทุกข์
คือ การมีอยู่ของทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ และตายล้วนเป็นทุกข์ ความเศร้าโศก ความโกรธ ความอิจฉาริษยา ความวิตกกังวล ความกลัวและความผิดหวังล้วนเป็น ทุกข์ การพลัดพรากจากของที่รักก็เป็นทุกข์ ความเกลียดก็เป็นทุกข์ ความอยาก ความยึดมั่นถือมั่น ความยึดติดในขันธ์ทั้ง 5 ล้วนเป็นทุกข์


2. สมุทัย
คือ เหตุแห่งทุกข์ เพราะอวิชา ผู้คนจึงไม่สามารถเห็นความจริงของชีวิต พวกเขาตกอยู่ในเปลวเพลิงแห่งตัณหา ความโกรธ ความอิจฉาริษยา ความเศร้าโศก ความวิตกกังวล ความกลัว และความผิดหวัง


3. นิโรธ 
คือ ความดับทุกข์ การเข้าใจความจริงของชีวิตนำไปสู่การดับความเศร้า โศกทั้งมวล อันยังให้เกิดความสงบและความเบิกบาน


4. มรรค 
คือ หนทางนำไปสู่ความดับทุกข์ อันได้แก่ อริยมรรค 8 ซึ่งได้รับการหล่อ เลี้ยงด้วยการดำรงชีวิตอย่างมีสติความมีสตินำไปสู่สมาธิและปัญญาซึ่งจะปลดปล่อย ให้พ้นจากความทุกข์และความโศกเศร้าทั้งมวลอันจะนำไปสู่ความศานติและ ความเบิกบาน พระพุทธองค์ได้ทรงเมตตานำทางพวกเราไปตามหนทางแห่งความรู้แจ้งนี้


สังคมศึกษา ม.1
ข้อมูลจาก  http://www.learntripitaka.com/scruple/ariya4.html

หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา

พุทธคุณ 9


พุทธคุณ 9 หมายถึง ความดีงามของพระพุทธเจ้าที่มีต่อมวลมนุษย์ 9 ประการดังนี้



            1. อะระหัง ทรงเป็นพระอรหันต์ หมายถึง ทรงเป็นผู้บริสุทธิ์ ปราศจากกิเลสที่เป็นเหตุให้เศร้าหมอง ทรงละเว้นการทำความชั่วทั้งหมด จึงทรงหมดสิ้นความทุกข์ ความเดือดร้อนทั้งปวง


            2.  สัมมาสัมพุทโธ ทรงเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หมายถึง ผู้ตรัสรู้ ทรงรู้แจ้งทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ความดับทุกข์ และมีวิธีให้ถึงความดับทุกข์ ซึ่งเรียกว่า อริยสัจ 4 ด้วยพระองค์เอง โดยไม่มีใครเป็นครูอาจารย์สั่งสอน แม้พระองค์ทรงมีความรู้อันเป็นพื้นฐานเบื้องต้นจากครูอาจารย์หลายสำนัก แต่ความรู้ที่ทรงรับนั้นไม่ใช่ความรู้เพื่อพ้นจากทุกข์ พระองค์ทรงบรรลุความรู้ด้วยการปฏิบัติด้วยพระองค์เอง


            3. วิชชาจะระณะสัมปันโน ผู้ทรงเพียบพร้อมด้วยความรู้แจ้งและความประพฤติปฏิบัติดี หมายถึง ความรู้ก็สมบูรณ์ดีเยี่ยมและความประพฤติดีงาม ทรงสั่งสอนผู้อื่นในสิ่งที่ทรงรู้และปฏิบัติ ทรงสั่งสอนชาวโลกอย่างใดก็ทรงปฏิบัติอย่างนั้น ทั้งความรู้และความประพฤติสมดุลกัน พระพุทธเจ้าทรงมีความรู้และความประพฤติดีจนทำพระองค์ทรงพ้นจากกิเลสและความทุกข์ได้ แล้วทรงสั่งสอนให้ผู้อื่นประพฤติปฏิบัติตามพระองค์จนได้บรรลุถึงความสุขในที่สุด


            4. สุคะโต เสด็จไปดีแล้ว หมายถึง วิถีทางที่เสด็จไปดีงาม พระองค์เสด็จไปสู่อริยมรรคที่ดีงาม คือ ทางประเสริฐสู่พระนิพพานนั่นเอง พระองค์เสด็จไปด้วยดีโดยชอบ ทรงดำเนินรุดหน้าไม่หวนกลับมาสู่กิเลสที่ทรงละได้แล้ว ทรงดำเนินไปสู่ผลสำร็จไม่ถอยหลัง ไม่ถอยกลับตกจากฐานะที่บรรลุถึง ทรงดำเนินไปในทางอันถูกต้อง ได้แก่ มัชฌิมาปฏิปทา (ทางสายกลาง) ไม่หลงไปในทางที่ผิด นี้เป็นความหมายของ สุคะโต หรือพระตถาคต ผู้เสด็จไปดีแล้ว และยังหมายถึง เสด็จไปดีเพื่อผู้อื่น คือ เสด็จไปที่ใดก็ทรงทำประโยชน์ให้แก่มหาชนในที่นั้น เสด็จไปโดยสวัสดีและนำให้เกิดสวัสดี เช่น เสด็จไปกลับใจโจรองคุลิมาลให้เป็นคนดี เป็นต้น


            5. โลกะวิทู ทรงรู้แจ้งโลก หมายถึง ทรงรู้แจ้งความจริงของโลก โลกในที่นี้ ได้แก่ สังขารทั้งหลาย พระองค์ทรงทราบอัธยาศัยของสัตว์ที่เป็นไปต่างๆ ได้ทรงแนะนำสั่งสอนได้ตรงตามที่เขาต้องการ เป็นเหตุให้เขาปฏิบัติตามแล้วได้รับผลสำเร็จ


            6. อะนุตตะโร ปุริสะทัมมะสาระถิ ทรงเป็นผู้สามารถฝึกบุรุษที่สมควรฝึกได้อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า หมายถึง ทรงรู้จักใช้อุบายให้เหมาะสมแก่บุคคล ทรงสอนเขาได้โดยไม่ต้องใช้อาชญาและทำให้เขาบรรลุที่พึงได้เต็มตามกำลังความสามารถของเขา



            7. สัตถา เทวะมนุสสานัง ทรงเป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ทรงเป็นครูของบุคคลทั้งชั้นสูงและชั้นต่ำ ทรงประกอบด้วยคุณสมบัติของครู และทรงทำหน้าที่ครูได้ดียอดเยี่ยม ทรงแนะนำพร่ำสอนชาวโลกด้วยพระกรุณาคุณ หวังให้ผู้อื่นได้ความรู้อย่างแท้จริง ทรงสอนมุ่งความจริงและประโยชน์เป็นหลัก ทั้งประโยชน์ในปัจจุบันคือชาตินี้ ประโยชน์ในชาติหน้าและประโยชน์สูงสุดคือพระนิพพาน


            8. พุทโธ ทรงเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น หมายถึง ไม่ทรงหลง ไม่ทรงงมงาย และทรงปลุกผู้อื่นให้ตื่นจากความหลงงมงาย และทรงเป็นผู้เบิกบาน หมายถึง มีพระทัยผ่องใส บำเพ็ญพุทธกิจได้ครบถ้วนบริบูรณ์


            9. ภะคะวา ทรงเป็นผู้มีโชค หมายถึง ทรงหวังพระโพธิญาณก็ได้สมหวัง ทรงประกาศพระศาสนาก็ชักจูงผู้คนให้ได้บรรลุธรรมสมปรารถนา แม้มีผู้คิดร้ายก็ไม่อาจทำร้ายพระองค์ได้  และทรงเป็นผู้จำแนกแจกธรรม หมายถึง ทรงอธิบายธรรมโดยนัยต่างๆ เหมาะสมแก่อุปนิสัยของผู้ฟัง จนได้รับผลสำเร็จตามสมควรแก่การประพฤติปฏิบัติของเขา


สังคมศึกษา ม.1
ข้อมูลจาก  maceducation

Monday, January 30, 2012

นางวิสาขา

นางวิสาขา


ประวัติ

นางวิสาขา เกิดในตระกูลเศรษฐี ในเมืองภัททิยะ แคว้นอังคะ บิดาชื่อว่า ธนญชัย มารดาชื่อว่าสุมนาเทวี และปู่ชื่อ เมณฑกเศรษฐี ขณะที่เธอมีอายุอยู่ในวัย ๗ ขวบ เป็นที่รักดุจแก้วตาดวงใจของเมณฑกะผู้เป็นปู่ยิ่งนัก

  • หญิงงามเบญจกัลยาณี
    ในเมืองสาวัตถีนั้น มีเศรษฐีตระกูลหนึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อว่า มิคารเศรษฐี มีบุตรชายชื่อ ปุณณวัฒนกุมาร เมื่อเจริญวัยสมควรที่จะมีภรรยาได้แล้ว บิดามารดาขอให้เขาแต่งงานเพื่อสืบทอดวงศ์ตระกูล แต่เขาเองไม่มีความประสงค์จะแต่งเมื่อบิดามารดารบเร้ามากขึ้น เขาจึงหาอุบายเลี่ยงโดยบอกแก่บิดามารดาว่า ถ้าได้หญิงที่มีความงามครบทั้ง ๕ อย่าง ซึ่งเรียกว่า เบญจกัลยาณี
    แล้วจึงจะยอมแต่งงาน

สังคมศึกษา ม.1
ข้อมูลจาก   เว็บ Dek-D

อนาถบิณฑิกเศรษฐี

อนาถบิณฑิกเศรษฐี



ประวัติ

อนาถบิณฑิกเศรษฐี มีนามเดิมว่า สุทัตตะ ชาวเมืองสาวัตถี เป็นเศรษฐีใจบุญ สร้างโรงทานสำหรับบริจากทานแก่คนยากจนทุกวัน จนได้ชื่อว่า "อนาถบิณฑิกะ" แปลว่า ผู้มีก้อนข้าวสำหรับคนอนาถา บิดาชื่อ สมุนเศรษฐี มารดาไม่ปรากฏชื่อ มีภริยาชื่อ นางบุญญลักขณา มีบุตร ๑ คน ชื่อ กาละ มีธิดา ๓ คน คือ มหาสุภัททา จูฬสุภัททา และสุมนา ตามลำดับ

สุทัตตะเดิมนับถือลัทธิปริพาชก ต่อมาหันมานับถือพระพุทธศาสนาสาเหตุเนื่องจาก ครั้งหนึ่งท่านเดินทางไปทำธุระกิจที่เมืองราชคฤห์ โดยพักอยู่ที่บ้านน้องเขย ท่านได้เห็นคนในบ้านวุ่นวายกับการจัดเตรียมการ คล้ายกับจะมีงานจัดเลี้ยงมโหฬาร ก็เกิดความประหลาดใจจึงถามคนในบ้านว่า "จะจัดงานอะไร" เมื่อคนในบ้านตอบให้ทราบข้อเท็จจริงแล้ว สุทัตตะจึงตัดสินใจเดินทางไปยังป่าสีตวันซึ่งพระพุทธองค์ประทับอยู่ เมื่อเข้าไปใกล้ พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า "สุทัตตะมานี่สิเราจะแสดงธรรมให้ฟัง" ทำให้ท่านดีใจเป็นอย่างยิ่ง รีบเข้าไปกราบพระพุทธองค์

ลำดับนั้นพระพุทธเจ้าได้แสดงอนุบุพพิกถาโปรดสุทัตตะ ท่านได้พิจารณาตามจนบรรลุพระโสดาปัตติผล เป็นพระอริยบุคคล ดังนั้น สุทัตตะจึงขออนุญาตน้องเขยเพื่อเป็นเจ้าภาพถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ทั้งหมด เป็นระยะเวลา ๗ วัน ในวันสุดท้าย สุทัตตะจึงทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าพร้อมพระสาวกให้เส็จไปเมืองสาวัตถีเพื่อที่ท่านจะได้ถวายการอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา

พระพุทธเจ้าตรัสว่า "ธรรมดาของสมณะจะยินดีในสถานที่สงบสงัด" สุทัตตะเข้าใจความหมายได้ทราบว่าพระองค์ทรงรับนิมนต์แล้ว เมื่อเดินทางกลับไปยังเมืองสาวัตถี ท่านจึงออกสำรวจหาสถานที่ดังกล่าว และพบว่าสถานที่เหมาะแก่การเจริญสมณธรรม คือ สวนเจ้าเชต จึงเข้าไปติดต่อและตัดสินใจซื้อในราคาที่สูงมาก ทำให้เจ้าของที่ดินคือเจ้าเชตต้องถามถึงสาเหตุ เมื่อทราบจึงเกิดศรัทธาและขอร่วมสร้างวัดกับท่านเศรษฐีด้วย และขอให้สุทัตตะใช้ชื่อเจ้าเชตเป็นชื่อวัดด้วย

เมื่อสร้างเสร็จจึงได้ตั้งชื่อวัดว่า วัดเชตวันมหาวิหาร พระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับเพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นระยะเวลานาน เมืองสาวัตถีเป็นเมืองศูนย์กลางการเผยแผ่พระพุทธศานาที่สำคัญแห่งหนึ่งในสมัยพุทธกาลต่อจากเมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ โดยมีท่านสุทัตตะเป็นมหาอุบาสกที่ให้การอุปถัมภ์ที่สำคัญต่อพระพุทธศาสนา


สังคมศึกษา ม.1
ที่มา : เว็บธรรมมะไทย




พระอุบาลี

พระอุบาลี


ประวัติ



           พระอุบาลีเป็นบุตรของช่างกัลบก (ช่างตัดผม) ในพระนครกบิลพัสดุ์ เมื่อเจริญวัยได้รับตำแหน่งเป็น "ภูษามาลา" ประจำราชสำนักแห่งเจ้าศากยะ


           เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ในพรรษาที่ ๒ เสด็จไปโปรดพระพุทธบิดาและพระประยูรญาติ ณ นครกบิลพัสดุ์ ในขณะที่พระพุทธองค์ประทับอยู่ที่นครกบิลพัสดุ์นั้น ได้มีพระญาติหลายองค์ออกผนวชตามเสด็จ ครั้นพระพุทธองค์ประทับอยู่สมควรแก่กาลแล้วก็เสด็จจาริกต่อไปยังที่อื่น


           เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จออกจากนครกบิลพัสดุ์ไปแล้ว พวกศากยะทั้งหลายได้วิพากษ์วิจารณ์กันว่า พวกตนได้ให้โอรสของตนซึ่งเป็นเพื่อนเล่นของเจ้าชายสิทธัตถะออกผนวชตามเสด็จ แต่ศากยะกุมารอีกหลายตระกูล ไม่ออกผนวชตามเสด็จ พวกศากยะกุมารเหล่านี้เห็นจะไม่ใช่ญาติกับพระพุทธเจ้า เพราะไม่เห็นมีใครออกผนวชตามเสด็จพระบรมศาสดากันเลย พวกศากยะกุมารได้สดับคำวิพากษ์วิจารณ์เหล่านี้แล้ว ทรงรู้สึกระอายจึงปรึกษาชักชวนกันออกผนวชด้วยกัน เป็นราชกุมารแห่งศากยวงศ์ ๕ พระองค์ คือ พระอนุรุทธะ พระภัททิยะ พระอานท์ พระภัคคุ พระกิมพิละ และราชกุมารแห่งโกลิยวงศ์ ๑ พระองค์ คือ พระเทวทัต รวมทั้งพระอุบาลี ซึ่งเป็นภูษามาลาด้วยเป็น ๗ พร้อมใจกันออกจากเมืองไปเฝ้าพระศาสดาที่อนุปิยอัมพวัน แขวงเมืองมัลละ ทูลขอบวช ก่อนบวชพวกศากยะเหล่านั้นทูลว่า ข้าพเจ้าทั้งหลายเป็นศากยะ มีมานะ (ความถือตัว) อุบาลีผู้นี้เป็นคนรับใช้ของข้าพเจ้าทั้งหลายมานานแล้ว ขอพระองค์จงให้อุบาลีบวชก่อนเถิด ข้าพเจ้าทั้งหลายจักได้กระทำการไหว้ กราบ ประนมมือ ลุกขึ้นต้อนรับ และกิจที่สมควรอื่นๆ แก่อุบาลีเมื่อเป็นเช่นั้นข้าพเจ้าทั้งหลายจักละมานะ (ความถือตัว) ว่าเป็นศากยะได้ พระศาสดาก็ทรงอนุมัติตาม คือให้อุบาลีบวชก่อน แล้วให้ศากยะเหล่านั้นบวชในภายหลัง


             ในภิกษุที่บวชใหม่นั้น พระอุบาลีได้ฟังพระกรรมฐานที่พระบรมศาสดาตรัสสอน ตั้งใจเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ในไม่ช้าก็ได้สำเร็จพระอรหัตตผลเป็นพระอรหันต์


              ครั้งนั้นพระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนพระอุบาลีให้ศึกษาเล่าเรียนพระวินัยปิฎกด้วยพระองค์เองโดยตลอด จึงเป็นเหตุให้พระอุบาลีมีความเข้าใจและทรงจำพระวินัยปิฎกได้แม่นยำ และมีความเชี่ยวชาญมาก ทั้งเป็นผู้ที่สามารถพิจารณาหาเหตุผลเกี่ยวกับเรื่องพระวินัยได้เป็นอย่างดี จนทำให้พระพุทธเจ้าทรงยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในบรรดาภิกษุผู้ทรงพระวินัย คือ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้เป็นสาวกของพระพุทธเจ้าฝ่ายทรงวินัย


             พระอุบาลีมีบทบาทสำคัญมากในกิจการพระพุทธศาสนาทั้งในสมัยที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ และหลังจากที่พระองค์เสด็จปรินิพพานแล้ว คือ


1) เป็นผู้สอนพระวินัยแก่ภิกษุทั้งหลาย โดยเหตุที่ท่านได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าเป็นผู้มีความชำนาญในพระวินัย ภิกษุทั้งหลายจึงเรียนพระวินัยในสำนักของท่าน นอกจากนั้นภิกษุที่ทรงจำวินัยปิฎกในสมัยต่อๆ มาก็ล้วนแต่เป็นศิษย์ผู้เรียนวินัยตามสายพระอุบาลีทั้งสิ้น


2) ได้รับความไว้วางใจจากพระพุทธเจ้าเป็นพิเศษถ้ามีอธกรณ์ (คดี หรือ เรื่องราว) ที่เกี่ยวกับวินัยเกิดขึ้น พระพุทธองค์ก็ทรงมอบให้พระอุบาลีรับภาระดำเนินการวินิจฉัยให้เป็นไปโดยถูกต้อง


3) ผลงานที่สำคัญที่สุดซึ่งมีผลมาจนถึงปัจจุบัน คือ การทำสังคายนาครั้งที่ ๑ หลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วได้ ๓ เดือน พระมหากัสสปะชักชวนเหล่าพระสงฆ์กระทำการปฐมสังคายนา คือ ราบรวม เรียบเรียงพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนตลอด ๔๕ พรรษา สอบทานและจัดหมวดหมู่วางลงเป็นแบบแผน ซึ่งในการสังคายนาครั้งนั้น ประกอบด้วยพระอรหันต์ ๕๐๐ รูป มีพระมหากัสสปะเป็นประธานและเป็นผู้ถาม พระอุบาลีเป็นผู้วิสัชนาพระวินัย พระอานนท์เป็นผู้วิสัชนาพระธรรม


              พระอุบาลีเป็นพระเถระสำคัญรูปหนึ่งในพระพุทธศาสนา เป็นมหาสาวก และเป็นกำลังสำคัญของพระพุทธเจ้า หลังจากการสังคายนาครั้งที่ ๑ แล้ว ท่านได้บำเพ็ญศาสนกิจอยู่ต่อมาเป็นเวลาอันสมควร จึงได้นิพพาน


สังคมศึกษา ม.1
ข้อมูลจาก  http://clubchay.tripod.com/buddha/buddha9.html

พระมหากัสสปะ

พระมหากัสสปะ


ประวัติ


        พระมหากัสสปะ มีพระนามเดิมว่า ปิปผลิ เป็นพระราชโอรสของกปิลพราหมณ์ และสุมนเทวีพราหมณี ประสูติที่เมืองราชคฤห์ ตอนวัยเด็ก ขณะที่ปิปผลิกุมารได้วิ่งเล่นออกจากพระราชวังนั้น ได้เห็นภิกษุรูปหนึ่ง กำลังทำสมาธิ จึงเกิดความเลื่อมใส คิดอยากจะออกบวชในวัยหนุ่ม เมื่ออายุเข้าย่างสู่ 20 ปี ทรงมีพระมเหสี มีพระนามว่าภัททกาปิลานี อาศัยอยู่ในเมืองสาคละ แคว้นมัททะ ซึ่งมีพราหมณ์คนหนึ่งตามมาขอพระราชธิดา และทั้งก็ได้แต่งงานกันอย่างสมเกียรติ และหลังจากแต่งงาน นางภัททกาปิลานีก็ได้มาอยู่ที่บ้านของปิปผลิภาณพ 


          ครั้งที่พระราชโอรส และพระราชธิดากำลังเสด็จประพาสอุทยานก็เห็นถึงสัตว์กินอาหาร และได้นึกถึงสังขารจึงออกบวชด้วยกันทั้งคู่ แต่ทั้งสองก็ได้ตกลงว่าต้องแยกกันแล้ว เพราะเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม ปิปผลิได้ออกบวชในพุทธศาสนา ระหว่างเมืองราชคฤห์ กับนาลันทา (บ้านเกิดพระสารีบุตร)


สังคมศึกษา ม.1
ข้อมูลจาก :  วิกิพีเดียไทย

ติตติรชาดก

ชาดก


ติตติรชาดก



        ณ ต้นไทรใหญ่ต้นหนึ่งในป่าหิมพานต์ เป็นที่อาศัยของสัตว์สามชนิด คือ ช้าง ลิง และ นกกระทา สัตว์ทั้งสามไม่ค่อยชอบหน้ากันโดยช้างถือว่าตนมีร่างกายแข็งแรงใหญ่โต ลิงถือว่าตนแคล่วคล่องว่องไว ส่วนนกกระทาก็ถือว่าตนนั้นบินได้เก่ง จึงพยายามหาทางกลั่นแกล้งกันและกันอยู่เสมอ


          วันหนึ่ง ช้างซึ่งคิดว่าตนเองแข็งแรงที่สุด มีรูปร่างใหญ่โต ต้องมีอำนาจมากกว่าสัตว์อื่น จึงแผดเสียงดังสนั่นหวั่นไหวจนลิงและนกกระทาตกใจนอนไม่หลับ ทำให้สัตว์ทั้งสองโกรธแค้นเป็นอันมาก
วันหนึ่ง ลิงเห็นช้างกำลังกินหน่อไม้ริมทางอย่างเพลิดเพลิน ก็แกล้งโยนรังมดแดงใส่หลัง มดแดงรุมกัดช้างจนร้องลั่น ลิงหัวเราะชอบใจแล้วหันไปรื้อรังนกกระทา


          นกกระทาแค้นใจเป็นอันมากที่ถูกช้างและลิงกลั่นแกล้งจึงพยายามหาทางแก้แค้นคืนบ้าง พอเห็นลิงและช้างเผลอ ก็บินขึ้นไปและถ่ายมูลรดหัวช้างและลิงเป็นการแก้แค้น
ทั้งสามต่างแกล้งกันอยู่อย่างนี้ทุกวันจนไม่เป็นอันทำมาหากิน เป็นผลให้สัตว์ทั้งสามมีร่างกายผ่ายผอมอ่อนแอ จิตใจเสื่อมโทรมลงทุกวัน
          ในที่สุดสัตว์ทั้งสามเห็นว่าการกลั่นแกล้งกันทำให้เกิดความเดือดร้อน มีแต่ผลเสีย จึงปรึกษากันว่าควรจะเลือกผู้ที่มีอายุมากที่สุดเป็นหัวหน้า โดยใช้วิธีการสืบสาวเรื่องราวว่าใครรู้จักต้นไทรนี้ก่อนกัน
ช้างตอบว่า “ข้ารู้จักต้นไทรต้นนี้ตั้งแต่ต้นไทรสูงไม่เกินระดับท้องของข้า”


          ส่วนเจ้าลิงกลัวจะน้อยหน้าเพื่อนจึงตอบว่า “ข้านี่นะ รู้จักไทรต้นนี้ตั้งแต่ยังต้นเล็กนิดเดียวเท่านั้น”
นกกระทาได้ยินช้างกับลิงตอบเช่นนั้นจึงตอบอย่างมั่นอกมั่นใจว่า “นี่แน่ะเพื่อนรัก ข้าจะบอกอะไรให้ เมื่อก่อนต้นไทรต้นนี้ไม่มีหรอก ข้าต้องบินไปกินผลไทรในป่าโน้นกินเสร็จก็บินกลับมาที่นี่ แล้วพอดีเกิดปวดท้องจนทนไม่ไหวจึงถ่ายมูลไว้ตรงนี้ เมล็ดไทรจากมูลที่ข้าถ่ายไว้นั่นเองที่เกิดเป็นต้นไทรขึ้น”


          เมื่อซักถามประวัติกันเรียบร้อยแล้ว ปรากฏว่านกกระทาเป็นผู้มีอายุมากที่สุด ได้รับการยกย่องให้เป็นพี่ใหญ่ ช้างและลิงต้องเชื่อฟัง


          นับตั้งแต่นั้นมา นกกระทาทำหน้าที่เป็นผู้ปลุกน้อง ๆ ให้ตื่นแต่เช้าแล้วบินขึ้นที่สูง เพื่อสำรวจแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ พาช้างและลิงไปที่นั่น


          โดยให้ลิงเป็นฝ่ายขึ้นไปเก็บผลไม้มากินกัน และบรรทุกผลไม้ที่เหลือไว้บนหลังช้าง เก็บไว้เป็นอาหารมื้อต่อไป


          ในที่สุดสัตว์ทั้งสามก็มีสุขภาพกายจิตดีขึ้นเรื่อย ๆ ต่างพร้อมใจกันทำหน้าที่ที่ตนถนัด ทำให้สามารถอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุขด้วยการพึ่งพาอาศัยกันและกัน


          ชาดกเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า


"การนับถือกันตามลำดับวัยวุฒิ รู้จักเคารพซึ่งกันและกัน และรู้จักเอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่กันย่อมนำมาซึ่งความสุขในการอยู่ร่วมกัน"


สังคมศึกษา ม.1
จาก Blog nation

Sunday, January 29, 2012

อัมพชาดก

อัมพชาดก


ชาดกเป็นเรื่องราวในอดีตชาติของพระพุทธเจ้าที่พระองค์ตรัสแก่พุทธบริษัทเพื่อยกเป็นอุทาหรณ์สอนธรรม ในแต่ละชาดกมีเรื่องราวที่สนุกพร้อมแทรกคติสอนใจ เพราะฉะนั้น การศึกษาชาดกจึงได้ทั้งคติสอนใจและความเพลิดเพลินใจไปพร้อมกันด้วย


          ในอดีตกาลนานมาแล้ว เมื่อครั้งพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติในกรุงพาราณสียังมีครอบครัวปุโรหิตครอบครัวหนึ่งถึงความวิบัติด้วยอหิวาตกโรค มาณพผู้เป็นบุตรชายรีบหนีออกจากบ้านเดินทางไปยังเมืองตักกสิลาและได้ร่ำเรียนศิลปวิทยาในสำนักของอาจารย์ทิศาปาโมกข์ เมื่อเรียนจบแล้วได้ท่องเที่ยวไปจนถึงหมู่บ้านจัณฑาลแห่งหนึ่ง


          ณ ที่นั้น เขาเห็นชายจัณฑาลคนหนึ่งที่สามารถเสกต้นมะม่วงให้ผลิดอกออกผลนอกฤดูกาลได้ แล้วนำไปขายเลี้ยงชีพตนและลูกเมียมาตลอด


          มาณพเฝ้าติดตามดูจนแน่ใจ จึงคิดอยากได้มนต์นี้ ได้เพียรขอเป็นศิษย์เล่าเรียนวิชาแต่ถูกปฏิเสธ เพราะชายจัณฑาลเห็นว่าต่อไปมาณพจะไม่สามารถรักษาความรู้เอาไว้ได้ มาณพจึงหาวิธีการใหม่ โดยเริ่มจากขอทำงานในบ้านของชายจัณฑาล คอยรับใช้งานทุกอย่าง ตั้งแต่ ตำข้าว หุงหาอาหาร ตักน้ำล้างหน้า และแม้กระทั่งล้างเท้าให้ชายจัณฑาล นอกจากนี้ ยังรับใช้งานอื่นด้วยความอดทน


          วันหนึ่ง ชายจัณฑาลใช้ให้มาณพหนุ่มไปหาเขียงมาหนุนขาเตียงในเวลาตนเข้านอน แต่มาณพหาเขียงไม่ได้จึงยอมเอาขาของตนรองรับขาเตียงไว้ตลอดคืน


          ในเวลาต่อมาภรรยาของชายจัณฑาลคลอดบุตร มาณพผู้นี้ก็คอยดูแลรับใช้ทุกอย่างจนภรรยาของชายจัณฑาลเกิดความสงสาร จึงอ้อนวอนสามีขอให้สอนมนต์เสกมะม่วงแก่มาณพ ชายจัณฑาลก็ยินยอมรับมาณพเป็นศิษย์สั่งสอนมนต์เสกผลไม้นอกฤดูกาลให้พร้อมทั้งสั่งไว้ว่า ถ้าเมื่อใดที่มาณพ ได้ลาภสักการะอันยิ่งใหญ่เพราะมนต์บทนี้แล้ว เวลาพระราชาหรือราชอำมาตย์ถามว่าเรียนมนต์นี้มาจากใคร ให้บอกชื่อและโคตรของอาจารย์ตามความเป็นจริง มิฉะนั้นมนต์บทนี้จะเสื่อมหายไปทันที มาณพผู้นั้นก็รับคำแล้วลาจากไป


          หลังจากนั้น มาณพได้ทดลองมนต์ไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ ทำให้ได้รับทรัพย์สินมากมายจากการเสกมะม่วงขายนอกฤดูกาล จนมาถึงกรุงพาราณสี เมื่อนายอุทยานซื้อมะม่วงไปถวายพระเจ้าพาราณสี พระองค์ทรงพอพระทัยในรสอันโอชาของมะม่วงเป็นอย่างมาก ทรงทราบว่ามาณพเป็นผู้ทำ จึงโปรดให้เสกมะม่วงในพระราชอุทยานให้มีผลนอกฤดูกาลถวาย และได้พระราชทานทรัพย์เป็นอันมาก


          อยู่มาวันหนึ่ง เมื่อพระเจ้าพาราณสีเสวยมะม่วงโอชารสแล้วตรัสถามมาณพว่าเรียนมนต์นี้มาจากสำนักใด มาณพอายที่จะทูลว่าตนเป็นศิษย์ของชายจัณฑาลจึงปกปิดความจริง และกราบทูลเป็นความเท็จว่า ตนศึกษามาจากสำนักอาจารย์ทิศาปาโมกข์ ทำให้พระเจ้าพาราณสีทรงพอพระทัยที่ได้ศิษย์ของอาจารย์ทิศาปาโมกข์มารับราชการกับพระองค์ นอกจากการกล่าวคำเท็จเพราะเกรงจะถูกคนดูหมิ่นเหยียดหยามแล้ว มาณพยังคิดว่าตนได้ใช้มนต์นี้มาจนชำนาญแล้ว มนต์คงไม่เสื่อมตามคำเตือนของชายจัณฑาลเป็นแน่ จึงกล่าวเท็จโดยลืมคิดไปว่า ตนได้รับความรู้จากชายจัณฑาลมาใช้เลี้ยงชีพจนร่ำรวยทั้งเงินทองและได้ยศศักดิ์ เพราะความที่เขาเป็นคนเนรคุณนี่เองทำให้มนต์ของมาณพผู้นี้เสื่อมไปโดยไม่รู้สึกตัว


          ในเวลาต่อมา พระเจ้าพาราณสีได้เสด็จไปประทับที่พระราชอุทยานและโปรดให้เรียกหามาณพมาเสกมะม่วงถวายต่อหน้าพระพักตร์ แต่มาณพนั้นไม่อาจเสกมะม่วงได้เหมือนแต่ก่อน ได้แต่ยืนนิ่งเฉย พระเจ้าพาราณสีทอดพระเนตรเห็นดังนั้นจึงตรัสถาม จนมาณพสุดที่จะบ่ายเบี่ยง ต้องทูลความจริงว่าชายจัณฑาลคือครูอาจารย์ผู้สอนมนต์เสกมะม่วงให้แก่ตน แต่เพราะไม่เชื่อฟังคำสั่งสอนของอาจารย์จึงได้ทูลความเท็จทำให้มนต์เสื่อมไป พระเจ้าพาราณสีทรงพิโรธอย่างยิ่ง ทรงติเตียนว่ามาณพเป็นคนชั่วช้าเลวทราม ไม่รู้บุญคุณของครูอาจารย์ผู้ให้ความรู้ ดุจดังคนโง่ไม่รู้คุณค่าของดวงแก้วที่ตนได้รับความจริงแล้ว ศิษย์ต้องเคารพและกตัญญูรู้คุณต่อครูอาจารย์ จึงมีพระราชโองการให้ลงโทษโดยการเฆี่ยนตีและขับไล่มาณพผู้เนรคุณออกไปจากพระราชวัง


          มาณพเสียใจเดินร้องไห้ไปจนถึงบ้านชายจัณฑาลผู้เป็นอาจารย์ บอกเล่าถึงความผิดพลาดของตน โดยอ้างว่ากระทำไปเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์พร้อมทั้งอ้อนวอนขอเรียนมนต์เสกมะม่วงใหม่อีกครั้ง แต่ชายจัณฑาลกล่าวปฏิเสธเพราะได้เตือนถึงเรื่องที่มนต์จะเสื่อมไว้ก่อนแล้ว แต่มาณพเป็นคนพาล โง่เขลา อกตัญญู หลงตัวลืมตน โกหกมดเท็จ และประมาทจึงต้องพบกับความพินาศ แล้วขับไล่ไปให้พ้นเสีย มาณพเสียใจมากที่ตนเองทำให้มนต์เสื่อมสูญไป จึงเข้าไปผูกคอตายในป่า


          ชาดกเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า คนอกตัญญู เนรคุณต่อผู้มีพระคุณ ไม่เคารพเชื่อฟังคำสั่งสอนของครูบาอาจารย์จะเป็นผู้ที่น่ารังเกียจ แม้จะได้รับเงินทองยศศักดิ์มากเพียงใดก็ต้องพบกับความพินาศในที่สุด

สังคมศึกษา ม.1
ที่มา blog nation

ชาดกในพระพุทธศาสนา

ชาดก




ชาดก คือ เรื่องราวที่เล่าถึงอดีตของพระพุทธเจ้าก่อนที่จะทรงประสูติเป็นพระพุทธเจ้าซึ่งมีทั้งหมด 550 เรื่อง ในฐานะพุทธศาสนิกชนควรที่จะต้องศึกษาเรื่องราวในอดีตของพระพุทธเจ้าเพื่อนำมาเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต ซึ่งจะมีเรื่องราวที่นักเรียนในชั้น ม.1 ได้ศึกษาคือ


1. อัมพชาดก


2. ติตติรชาดก


สังคมศึกษา ม.1

การบำเพ็ญทุกรกิริยา

พุทธประวัติ

การบำเพ็ญทุกรกิริยา


แบ่งเป็น 3 วิธี คือ


1. การควบคุมอวัยวะบางส่วนของร่างกายไว้อย่างเข้มงวด เช่น การกดพระทนต์(ฟัน)ด้วยพระทนต์  ทรงกดพระตาลุ(เพดานปาก) ด้วยพระชิวหา(ลิ้น) จนพระเสโทไหลออกทั่วร่างกาย


2. การกลั้นลมหายใจ ทำให้ปวดพระเศียร เกิดความร้อนในพระวรกายเต็มกำลัง


3. อดอาหาร  โดยลดอาหารลงวันละน้อย จนกระทั่งหยุดการบริโภคทำให้มีพระวรกายผอม แต่ยังไม่สามารถตรัสรู้ได้


เจ้าชายสิทธัตถะได้บำเพ็ญทุกรกิริยาด้วยวิธีต่างๆ จนร่างกายแทบทนไม่ได้ จึงมีเทวดาแสดงนิมิตรโดยการดีดพิณ โดยที่เส้นตึงเกินไปเปรียบได้กับการปฏิบัติที่เคร่งครัด  เส้นที่ 2 มีสายหย่อนเกินไป เปรียบเหมือนชีวิตที่ขาดระเบียบวินัยก็ไม่ดี  เ้ส้นที่ 3 คือเส้นที่กำลังดี จะทำให้ได้เสียงที่ไพเราะ เปรียบเหมือนชีวิตในทางสายกลางจะทำให้เกิดสติ


ดังนั้นพระองค์จึงเริ่มรับประทานอาหารและดำเนินชีวิตตามทางสายกลางจนสามารถตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ในที่สุด


สังคมศึกษา ม.1


การแสวงหาความรู้

พุทธประวัติ

การแสวงหาความรู้


เมื่อทรงพระเยาว์เจ้าชายสิทธัตถะมีนิสัยใฝ่รู้อยู่เสมอ โดยเมื่ออายุ 7 พรรษาก็ได้เสด็จเข้าเรียนที่สำนักของครูวิศวามิตร และได้รับการศึกษาศิลปศาสตร์ถึง 18 ประการ เช่น  การรบ  การบริหารบ้านเมือง จนแตกฉาน จึงนับว่าเป็นผู้ที่มีความรู้สูง


เมื่อเสด็จออกผนวชแล้วได้เสด็จไปศึกษาหาความรู้เพื่อแสวงหาหนทางหลุดพ้นจากสำนักอาฬารดาบสกาลามโคตรและอุทกดาบส รามบุตร ได้ศึกษาจนจบหลักสูตร แต่พระองค์ทรงเห็นว่าไม่ใช่หนทางแห่งการหลุดพ้น จึงกราบลาอาจารย์ทั้งสองเพื่อไปแสวงหาความรู้ที่สูงขึ้นต่อไป หลังจากนั้นพระองค์ทรงทรมาณร่างกายด้วยวิธีการต่างๆ เรียกว่า ทุกรกิริยา เช่น การกลั้นลมหายใจ  การอดอาหาร  เป็นต้น ซึ่งทรงคิดว่าเป็นวิธีการที่ทำให้เกิดความรู้ได้


สังคมศึกษา ม.1

เทวทูต 4

พุทธประวัติ

เทวทูต 4


          ทรงหยั่งเห็นความแก่ ความเจ็บ ความตาย ครอบงำมหาชนอยู่ทุกคน ไม่ล่วงพ้นไปได้ เป็นอย่างนั้น เพราะโทษที่ได้ฟังคำสอนของนักปราชญ์ เห็นผู้อื่นแก่ เจ็บ ตาย ย่อมเบื่อหน่ายเกลียดชัง ไม่คิดถึงตัวว่า จะต้องเป็นเหมือนอย่างนั้นบ้าง เมาอยู่ในวัย ในความไม่มีโรค และในชีวิต เหมือนหนึ่งเป็นคนจะไม่ต้องแก่ เจ็บ ตาย มีแต่ขวนขวายหาของอันมีสภาวะเช่นนั้น ไม่คิดอุบายเครื่องพ้นบ้างเลย ถึงพระองค์ก็มีอย่างนั้นเป็นธรรม แต่จะเกลียดเบื่อหน่ายเหมือนอย่างเขา ไม่สมควรแก่พระองค์เลย 


           เมื่อทรงดำริอย่างนี้แล้ว ก็ทรงบันเทาความเมา ๓ ประการ คือ เมาในวัย เมาในความไม่มีโรค และเมาในชีวิต กับทั้งความเพลิดเพลินในกามสมบัติเสียได้ จึงทรงดำริต่อไปว่า ธรรมดาสภาวะทั้งปวง ย่อมมีของที่เป็นข้าศึกแก่กัน เช่นมีร้อน ก็มีเย็นแก้ มีมืด ก็มีสว่างแก้ บางทีจะมีอุบายแก้ทุกข์ ๓ อย่างนั้นได้บ้างกระมัง ก็แต่ว่า การที่จะแสวงหาอุบายแก้ทุกข ์ ๓ อย่างนั้น เป็นการยากอย่างยิ่ง สำหรับผู้ที่ยังอยู่ในฆราวาสวิสัย จะแสวงหาไม่ได้ เพราะฆราวาสนี้เป็นที่คับแคบนัก และเป็นที่ตั้งแห่งอารมณ์อันทำใจให้เศร้าหมอง เหตุความรัก ความชัง ความหลง ดุจเป็นทางมาแห่งธุลี บรรพชาเป็นช่องว่าง พอเป็นที่แสวงหาอุบายนั้นได้ ทรงดำริอย่างนี้แล้ว ก็มีพระอัธยาศัยน้อมไปในบรรพชา ไม่ยินดีในฆราวาสสมบัติ 


           ครั้นทรงแน่พระทัยว่า เป็นอุบายให้แสวงหาธรรมเป็นเครื่องพ้นได้เช่นนั้น ก็ทรงโสมนัส เสด็จกลับพระราชวังในเวลาเย็น ด้วยพระเกียรติยศอันสูง เสด็จขึ้นประทับที่มุขปราสาทชั้นบน 


สังคมศึกษา ม.1
จาก  http://www.larnbuddhism.com/puttaprawat/prasut/

Saturday, January 28, 2012

พุทธประวัติ

พุทธประวัติ 

การประสูติ 


ดินแดนแคว้นสักกะในทางตอนเหนือของอินเดีย มีพระเจ้าสุทโธทนะเป็นกษัตริย์ครองเมืองกบิลพัสดุ์ พระนางสิริมหามายาซึ่งเป็นพระมารดาของพระพุทธเจ้า ครั้นที่พระมารดาทรงพระครรภ์แก่จวนจะประสูติ ตามประเพณีโบราณจะต้องไปประสูติพระราชโอรสที่บ้านเกิดเมืองนอนที่เมืองเทวทหะ ครั้นเดินทางไปถึงพรมแดนของเมืองกบิลพัสดุ์ก็ประชวรพระครรภ์และประสูิติพระโอรสในพระอริยาบถยืน โดยทรงเหนี่ยวที่กิ่งสาระที่สวนลุมพินีวัน ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 หลังจากนั้นพระราชโอรสได้ดำเนินไปเป็นจำนวน 7 ก้าว โดยมีดอกบัวมารองรับเท้า 


หลังจากนั้น 3 วัน อสิตดาบสได้เข้าเฝ้าชมพระบารมีและทำนายพระลักษณะว่าพระกุมารนี้


"ถ้าครองราชย์สมบัติ จะเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ยิ่งใหญ่เหนือกษัตริย์ทั้งปวง 


ถ้าเสด็จออกผนวชจะเป็นศาสดาเอกของโลก" 


หลังจากประสูติได้ 7 วัน พระราชมารดาก็เสด็จสวรรคต และหลังจากนั้น 7 ปี พระราชโอรสถูกส่งเข้ารับการศึกษาในสำนักครูวิศวามิตรจนจบหลักสูตร และเมื่อพระชนมายุ 16 พรรษาก็ได้อภิเษกสมรสกับพระนางพิมพา มีพระโอรสหนึ่งองค์ชื่อ ราหุล


สังคมศึกษา ม.1

ความสำคัญของพระพุทธศาสนาต่อสังคมไทย



ความสำคัญของพุทธศาสนาต่อสังคมไทย

ความสำคัญของพระพุทธศาสนาต่อสังคมไทย มีดังนี้
       
1.  พระพุทธศาสนามีความสำคัญต่อสังคมไทยในฐานะเป็นศาสนาประจำชาติ  
พระพุทธศาสนาถือเป็นศาสนาประจำชาติของไทยเนื่องจากประชาชนชาวไทยถึงร้อยละ 95 นับถือพระพุทธศาสนาโดยมีหลักฐานคือ
1.1  ประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศไทยนับถือพระพุทธศาสนาโดยมีการนับถือสืบต่อมาจากบรรพบุรุษแสดงว่าพุทธศาสนาได้วางรากฐานฝังลึกในดินแดนไทยอย่างมาก
1.2  พระพุทธศาสนาเป็นที่มาของวัฒนธรรมไทย วิถีการดำเนินชีวิตของคนไทยในเกือบทุกด้านมีความผูกพันกับคำสอนของพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้งตั้งแต่ ค่านิยม ความเชื่อ และพิธีกรรมต่างๆ เป็นต้น
1.3  พระมหากษัตริย์ของไทยทุกพระองค์นับตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน     นับถือพระพุทธศาสนาถือหลักทศพิธราชธรรมในการปกครองประเทศ

2.  พระพุทธศาสนามีความสำคัญในฐานะเป็นสถาบันหลักของสังคมไทย 
                2.1  พระพุทธศาสนากับการเมืองการปกครอง หลักคำสอนของพุทธศาสนาที่สอนให้ศาสนิกชนเป็นคนที่ เอื้อเฟื้อ รู้จักความสามัคคีกัน ล้วนมีส่วนส่งเสริมให้สังคมไทยเกิดความมั่นคงและสันติสุข
2.2  พระพุทธศาสนากับการศึกษา ตั้งแต่อดีตวัดจะเป็นสถานที่ที่สำคัญของไทยที่เยาวชนเข้าไปศึกษาหาความรู้ด้านต่างๆ และมีความสำคัญต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
2.3  พระพุทธศาสนากับคุณธรรมจริยธรรมของสังคมไทย  โดยการเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรมของประชาชนให้สูงขึ้นซึ่งจะช่วยให้เกิดความสงบเรียบร้อยในบ้านเมืองพุทธศาสนามีบทบาทสำคัญ เพราะอยู่ใกล้ชิดกับประชาชนและประชาชนส่วนใหญ่มีความศรัทธา โดยมีวัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน

3. พระพุทธศาสนามีความสำคัญในฐานะเป็นสภาพแวดล้อมในสังคมไทย  
    พอสรุปได้ดังนี้
3.1  พระพุทธศาสนามีความสำคัญต่อสภาพแวดล้อมทางด้านสถาปัตยกรรม ในการสร้างโบสถ์วิหาร ก็จะแฝงแนวคิดของพระพุทธศาสนาไว้ด้วย
3.2  พระพุทธศาสนามีความสำคัญต่อทางด้านภาษาไทย  ที่นำเอาภาษาบาลีมาปะปนในระยะแรงทางด้านวรรณกรรม ที่วรรณคดีส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องราวในพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น
3.3  พระพุทธศาสนามีความสำคัญต่อระบบความเชื่อ ความคิด และลักษณะวัฒนธรรมประเพณีของคนไทย ทำให้เกิดเอกลักษณ์ที่เป็นของคนไทยโดยเฉพาะ เป็นต้น                       

สังคมศึกษา ม.1

การสังคายนาพระไตรปิฎก


การสังคายนาพระไตรปิฎก 


           สังคายนาพระธรรมวินัย หมายถึง การรวบรวม ตรวจสอบ ชำระพระธรรมและพระวินัยที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนหรือบัญญัติไว้

            ตามประวัติศาสนา การเกิดพระไตรปิฎกเริ่มต้นตั้งแต่สมัยที่พระพุทธเจ้ายังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ โดยพระพุทธองค์ทรงแนะนำให้สาวกรวบรวมพระพุทธภาษิตของพระองค์จัดเป็นหมวดหมู่ด้วยการซักซ้อมข้อที่ท่องจำกันมาให้เป็นที่เข้าใจ จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นการเริ่มต้นการรวบรวมเป็นตำราการท่องจำ ทั้งนี้เพราะเจ้าลัทธินิครนถ์ ชื่อ นิครนถนาฏบุตร สิ้นชีวิตลง พวกสาวกเกิดแตกกัน พระจุนทะเถระน้องชายพระสารีบุตรกลัวจะเกิดเหตุทำนองนี้ขึ้นกับพระพุทธศาสนา จึงไปเล่าให้พระสารีบุตรและพระอานนท์ฟัง ทั้งสองจึงกราบทูลพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงแนะนำให้รวบรวมพระธรรมวินัยเป็นหมวดหมู่และเป็นข้อๆ เมื่อมีการซักซ้อมท่องข้อธรรมเหล่านี้ พระพุทธองค์ก็ตรัสรับรองว่าถูกต้อง จึงนับได้ว่าเป็นการสังคายนาหรือการรวบรวมข้อธรรมของพระพุทธเจ้าครั้งแรก ซึ่งปรากฏอยู่ในรูปของพระธรรมกับพระวินัย


การสังคายนาพระธรรมวินัย ครั้งที่ 1  พระมหากัสสปเถระได้คิดทำการสังคายนาเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว 3 เดือน โดยมีพระเจ้าอชาตศัตรูเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภก ณ ถ้ำสัตตบรรณ เชิงเขาเวภาระ กรุงราชคฤห์ อาณาจักรมคธ มีพระอรหันต์มาร่วมประชุม 500 รูป

การสังคายนาพระธรรมวินัย ครั้งที่ 2  จัดทำขึ้นหลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว 100 ปี เนื่องจากมีพวกภิกษุชาววัชชีกลุ่มหนึ่งปฏิบัติผิดพระวินัย เช่น ฉันอาหารเลยเวลาเที่ยงวัน เป็นต้น พระยสถากรัฑบุตรซึ่งเป็นพระเถระผู้ใหญ่เห็นว่าหากปล่อยให้มีการประพฤติผิดพระวินัยเช่นนี้อาจเป็นเหตุให้พระพุทธศาสนาเสื่อม จึงเสนอให้ทำสังคายนาโดยพระสัพพากามีเถระเป็นองค์ประธาน พระเรวัตเถระและพระอรหันต์มาประชุมร่วมกัน 700 รูป โดยพระเจ้ากาลาโศกราชของอาณาจักรวัชชีเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภก ในการประชุมสงฆ์ครั้งนี้ทำให้คณะสงฆ์แตกออกเป็น 2 นิกาย คือ นิกายมหาสังฆิกะของภิกษุชาววัชชี กับนิกายเถรวาทของพระสัพพกามีเถระ

การสังคายนาพระธรรมวินัย ครั้งที่ 3 จัดทำขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 3 เนื่องจากได้มีนักบวชนอกศาสนาปลอมตัวมาบวชเพื่อหวังในลาภสักการะ สร้างความเดือดร้อนระส่ำระสายแก่พระภิกษุเป็นจำนวนมาก พระเจ้าอโศกมหาราชมีพระราชประสงค์จะชำระสะสางคณะสงฆ์ให้บริสุทธิ์ จึงอาราธนาพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระเป็นประธานทำสังคายนา ณ กรุงปาตลีบุตร แคว้นมคธ  ภายหลังการสังคายนา พระเจ้าอโศกมหาราชได้ส่งสมณทูตจำนวน 9 คณะแยกย้ายไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปยังดินแดนต่างๆ เช่น พระมหารักขิตเถระไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่กรีก พระมัชฌิมเถระไปที่เนปาล พระโสณเถระและพระอุตตรเถระไปที่สุวรรณภูมิ พระมหินทรเถระไปที่ลังกา เป็นต้น ส่งผลให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาก

การสังคายนาพระธรรมวินัย ครั้งที่ 4 – 5 – 6  ในประเทศต่างๆ ที่นับถือพระพุทธศาสนาจะมีการนับจำนวนครั้งที่สังคายนาแตกต่างกันไป สำหรับประเทศไทย ถือว่าครั้งที่  4 – 5 – 6  และ 7  ทำการสังคายนาในลังกาและได้มีการแปลและเรียบเรียงอรรถกถา คือ คำอธิบายพระไตรปิฎกเป็นภาษบาลี ครั้งที่ 8-9 ทำในประเทศไทย โดยครั้งที่ 8 ได้มีการชำระอักษรพระไตรปิฎกและจารึกลงในใบลานที่เมืองเชียงใหม่ ในสมัยพระเจ้าติโลกราช ส่วนครั้งที่ 9 คือในสมัยรัชกาลที่ 1 ได้มีการจารึกตัวอักษรลงในใบลานอีกครั้งหนึ่ง ต่อมาได้มีการจัดพิมพ์เป็นเล่มในสมัยรัชกาลที่ 5  และในสมัยรัชกาลที่ 7 ได้โปรดเกล้าฯให้ตีพิมพ์ใหม่เป็นพระไตรปิฎกฉบับที่สมบูรณ์เพื่ออุทิศถวายเป็นพระราชกุศลแด่รัชกาลที่ 6 เรียกว่า พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ พิมพ์ครบชุด 45 เล่ม และส่งไปเผยแผ่ยังต่างประเทศ ถือได้ว่าเป็นหลักในการจัดแบ่งเล่มพระไตรปิฎกในประเทศไทยในปัจจุบัน

สังคมศึกษา ม.1
ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก : maceducation.com

การเผยแผ่พระพุทธศาสนาเข้าสู่ประเทศไทย



การเผยแผ่พระัพุทธศาสนาเข้าสู่ประเทศไทย ( สัุงคม ม.1 )


                   พระพุทธศาสนาที่เผยแผ่เข้าสู่ประเทศไทยในแต่ละอาณาจักรมีการนับถือที่แตกต่างกันออกไป เช่น อาณาจักรตามพรลิงค์และอาณาจักรศรีวิชัย นับถือนิกายมหายาน ส่วนอาณาจักรทวาราวดี อาณาจักรพุกาม และอาณาจักรหริภุญไชย นับถือนิกายเถรวาท  สำหรับการนับถือพระพุทธศาสนาของคนไทย ไม่สามารถระบุให้ชัดเจน แต่ยึดถือเอาอาณาจักรสุโขทัยเป็นจุดเริ่มต้นในการศึกษา ดังนี้


1) อาณาจักรสุโขทัย 
ในราว พ.ศ. 1800 พระสงฆ์ไทยที่ไปศึกษาในลังกาได้กลับมาประเทศไทยพร้อมด้วยพระสงฆ์ชาวลังกา ได้มาตั้งสำนักเผยแผ่ศาสนาขึ้นที่เมืองนครศรีธรรมราช พอถึง พ.ศ. 1820 พ่อขุนรามคำแหงมหาราชขึ้นครองราช และทรงทราบกิตติศัพท์ว่า พระสงฆ์ที่เมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทอย่างลังกาวงศ์ มีวัตรปฏิบัติน่าเคารพเลื่อมใส จึงโปรดเกล้าฯ ให้นิมนต์พระมหาเถรสังฆราชจากนครศรีธรรมราช มายังวัดอรัญญิก ในกรุงสุโขทัย ต่อมา พ.ศ. 1897 พระเจ้าลิไทขึ้นครองราชย์ ได้นิมนต์พระมหาสามีสังฆราช เมืองลังกา ชื่อสมนะ เข้ามาสู่สุโขทัย พระองค์ทรงเลื่อมใสได้เสด็จออกผนวชชั่วคราว ณ วัดอรัญญิก และได้ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือเรื่อง เตภูมิกถา หรือ ไตรภูมิพระร่วง พระพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ได้เป็นที่เคารพนับถือของประชาชนไทยในสมัยสุโขทัยเป็นอย่างยิ่ง และแผ่ขยายไปทั่วอาณาจักรสุโขทัย

2) สมัยอาณาจักรล้านนา 
เมื่อ พ.ศ. 1913 พระเจ้ากือนาแห่งอาณาจักรล้านนา ได้ส่งพระราชทูตมาอาราธนาพระสังฆราชสุมนเถร จากพญาลิไทยแห่งกรุงสุโขทัยขึ้นไปยังล้านนา ซึ่งเป็นการเริ่มต้นพระพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ ในล้านนา ต่อมาในรัชกาลพระเจ้าติโลกราช ได้อุปถัมภ์ให้มีการทำสังคายนาครั้งที่ 8 ที่วัดโพธารามหรือวัดเจ็ดยอด และในรัชกาลพระเมืองแก้ว (พ.ศ.2038-2068) เป็นยุครุ่งเรืองของวรรณคดีพระพุทธศาสนา มีพระสงฆ์เป็นนักปราชญ์คัมภีร์ภาษาบาลีจำนวนมาก เช่น พระสิริมังคลาจารย์ แต่งหนังสือเรื่อง มังคลัตถทีปนี เวสสันตรทีปนี จักรวาฬทีปนี และสังขยาปกาสฎีกา พระรัตนปัญญาแต่งหนังสือเรื่อง วชิรสารัตถสังคห และชินกาลมาลีปกรณ์ เป็นต้น

3) สมัยอาณาจักรอยุธยา 
ในสมัยอยุธยาได้รับอิทธิพลการนับถือพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทอย่างลังกาวงศ์ จากอาณาจักรสุโขทัย ในสมัยนี้ได้มีการแต่งหนังสือเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เช่น มหาชาติคำหลวง กาพย์มหาชาติ นันโทปนันทสูตร พระมาลัยคำหลวง ปุณโณวาทคำฉันท์ เป็นต้น ใน พ.ศ. 2296 พระพุทธศาสนาในประเทศลังกาขาดพระภิกษุที่จะสืบศาสนา กษัตริย์ลังกาจึงส่งคณะทูตมาขอพระสงฆ์ไทยไปทำการอุปสมบทให้แก่ชาวลังกา พระเจ้าบรมโกศ ได้ส่งพระอุบาลีและพระอริยมุนี พร้อมด้วยคณะสงฆ์อีก 15 รูป เดินทางไปยังลังกาและได้ช่วยกันวางรากฐานและประดิษฐานพระพุทธศาสนาในลังกาจนมั่นคงเป็นปึกแผ่น ทำให้เกิดนิกายที่เรียกว่า “อุบาลีวงศ์หรือสยามวงศ์” ขึ้นที่ลังกา

4) สมัยอาณาจักรธนบุรี 
หลังจากที่พระเจ้าตากสินมหาราช ได้ทรงสถาปนากรุงธนบุรีแล้ว ก็ได้ฟื้นฟูพระพุทธศาสนาซึ่งเสื่อมโทรมไปหลังจากได้รับผลกระทบจากการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 แก่พม่า จึงได้อาราธนาพระสงฆ์ที่กระจัดกระจายจากภัยสงครามมาประจำอยู่ในพระอารามต่าง ๆ และได้โปรดเกล้าฯ ให้สืบหาพระสงฆ์ที่ทรงคุณธรรมจากทั่วประเทศให้ไปประชุมที่วัดบางหว้าใหญ่ (วัดระฆังโฆษิตารามในปัจจุบัน) เพื่อทำการคัดเลือกพระสงฆ์ที่ทรงคุณสมบัติขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งที่ประชุมได้ลงมติเลือกพระอาจารย์ศรี วัดประดู่ กรุงศรีอยุธยา เป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์แรกของกรุงธนบุรี เพื่อให้ทรงเป็นผู้รับผิดชอบในการฟื้นฟูบูรณะพระพุทธศาสนา ให้กลับคืนสู่ความรุ่งเรืองดังเดิม

5) สมัยอาณาจักรรัตนโกสินทร์ 
กษัตริย์ราชวงศ์จักรีทุกพระองค์ทรงเป็นผู้อุปถัมภ์พระพุทธศาสนา เช่น 
รัชกาลที่ 1 ทรงสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดสุทัศน์เทพวราราม 
รัชกาลที่ 2 ทรงเปลี่ยนแปลงการศึกษาภาษาบาลีของพระภิกษุสงฆ์ให้มีคุณภาพมากขึ้น 
รัชกาลที่ 4 ทรงก่อตั้งคณะสงฆ์ธรรมยุตนิกาย สมัยที่พระองค์ทรงผนวชอยู่ 
รัชกาลที่ 5 ได้ทรงก่อตั้งมหาวิทยาลัยสงฆ์ 2 แห่งคือ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย 
                  ที่วัดมหาธาตุยุวราชรังคสฤกติ และมหามกุฏราชวิทยาลัย ที่วัดบวรนิเวศน์วิหาร
รัชกาลที่ 6 ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เช่น เทศนาเสือป่า 
                  พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร และทรงยกเลิกการใช้รัตนโกสินทร์ศก (ร.ศ.) เปลี่ยนมา
                 ใช้ พุทธศักราช (พ.ศ.) แทน 
รัชกาลที่ 7 โปรดเกล้าให้จัดพิมพ์ “พระไตรปิฎกสยามรัฐ” 
รัชกาลที่ 8 มีการออกพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับใหม่ (ฉบับ พ.ศ. 2484) และ
รัชกาลที่ 9 ได้ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาไว้มากมาย เช่น จัดตั้งโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ 
                   ประกาศใช้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ส่งคณะสงฆ์ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา
                   ทั่วโลก เป็นต้น

ขอบคุณข้อมูลจาก : MCU.AC.TH




การเผยแผ่พระพุทธศาสนา

การเผยแผ่พระพุทธศาสนา




           พระพุทธศาสนาได้มีการเผยแผ่ไปยังดินแดนต่างๆทั่วโลก โดยเฉพาะในสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช ซึ่งได้มีการส่งสมณฑูตเดินทางไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในดินแดนต่างๆ รวม 9 สายคือ


สายที่ 1   มีพระมัชฌันติณเถระเป็นหัวหน้าแคว้นแคชเมียและคัณธาระ
สายที่ 2   มีพระมหาเทวเถระเป็นหัวหน้าไปมหิสสก มณฑลทางทิศใต้
                ของแม่น้ำโคธาวารี
สายที่ 3   มีพระรักขิตตเถระเป็นหัวหน้าไปในวาสีประเทศ
สายที่ 4   มีพระโยนกธัมมรักขิตตเถระเป็นหัวหน้าไปชนบท
สายที่ 5   มีพระมหาธัมมรักขิตตเถระเป็นหัวหน้าไปมหารัฐประเทศ
สายที่ 6   มีพระมหารักขิตตเถระเป็นหัวหน้าไปโยนกประเทศ
สายที่ 7   มีพระมัชฌิมเถระเป็นหัวหน้าไปหิทวันทประเทศ
สายที่ 8   มีพระโสณเถระและพระอุตรเถระเป็นหัวหน้าไปยังดินแดน
                สุวรรณภูมิ
สายที่ 9   มีพระมหินทเถระเป็นหัวหน้าไปทวีปลังกา